เปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน เดินเครื่องจักรกลการเกษตร

Date : 01 January 1970

ปัจจุบันทั่วทั้งโลกมีการผลิตขยะพลาสติกมากถึงปีละ 370 ล้านตัน คาดกันว่าภายในปี 2050 จะมีขยะพลาสติกมากกว่า 1.2 หมื่นล้านตัน ที่ทับถมอยู่ในหลุมขยะฝังกลบปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาขยะพลาสติกยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากคนทั่วโลกมีความจำเป็นและความต้องการซื้อหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ในการดูแลป้องกันสุขภาพตัวเอง ส่งผลให้ การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น

 


ส่วนบ้านเรา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรายงาน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นถึง 60% และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมไทยมีการสร้างขยะพลาสติกปีละกว่า 2,000 ล้านกิโลกรัม แต่กลับมีการนำไปรีไซเคิลเพียงแค่ไม่ถึง 10% แล้วเราจะมีวิธีการใดจัด การกับพลาสติกเหล่านี้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือก่อผลกระทบน้อยที่สุด
 
 
 
“เราในฐานะหน่วยงานภาคเอกชนที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคมให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่มีการทำลายตามกระบวนการอย่างเหมาะสม เราจึงให้ความสำคัญในส่วนนี้พร้อมเดินหน้าสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีไพโรไลซิส เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม”
 
 
นายยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้พัฒนาโซลูชันธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีฐานการดำเนินงานทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ พูดถึงนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ 100% เปลี่ยนสภาพของขยะพลาสติก ให้กลับไปเป็นน้ำมันในรูปแบบของเหลว
 
 
 
เริ่มจากกระบวนการลำเลียงขยะพลาสติกลงในเครื่องนวัตกรรมไพโรไลซิส (Pyrolysis Machine) สามารถรองรับขยะพลาสติกทุกประเภท โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ย่อยสลายได้ยาก จึงมักนำไปฝังกลบหลังใช้งาน อาทิ ถุงพลาสติก พลาสติกห่อหุ้ม บรรจุภัณฑ์พลาสติก จากนั้นเครื่องจะให้ความร้อนต่อขยะพลาสติกที่ถูกใส่ไปในเครื่องเพื่อให้เกิดควันและก๊าซ โดยขั้นตอนนี้ไม่ใช่การเผา แต่เป็นการใช้ความร้อนเพื่อย่อยสลาย จึงทำให้ไม่เกิดไอพิษลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซไวไฟที่ได้ในขั้นตอนนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปใช้เพื่อสร้างความร้อนในขั้นตอนการแปรสภาพขยะพลาสติกต่อไป ส่วนควันที่เกิดขึ้นจะลอยผ่านระบบกลั่น และเปลี่ยนเป็นของเหลว เป็นพลังงานหรือน้ำมันชีวภาพที่ค่อนข้างสะอาดเพราะมีกำมะถันต่ำ
 

ปัจจุบันน้ำมันชีวภาพขั้นสูงบางส่วนที่ผลิตได้ ถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องนวัตกรรมไพโรไลซิสอีกครั้ง แต่ในอนาคตสามารถนำน้ำมันชนิดนี้ไปใช้กับเครื่องบิน และไม่เกินสิ้นปีนี้จะขยายการนำไปสู่การ ใช้ในภาคเกษตร โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตร รถไถ เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เพราะการใช้น้ำมัน กำมะถันต่ำ ถือเป็นการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าสึกหรอของอุปกรณ์ได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก่อมลพิษก็ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับน้ำมันทั่วไป



 

ทั้งนี้ โรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันของคอร์สแอร์มีเนื้อที่ 6,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเดือนละ 200,000 ลิตร
 
และในปี 2565 โรงงานจะขยายเนื้อที่เพิ่มอีก 10,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้ได้มากกว่าเดือนละ 1,000,000 ลิตร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.corsairnow.com



ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/2145246